เรื่องเล่าสุขภาพ

เท้า "อวัยวะที่ไม่ควรมองข้าม"
                                               เท้า
                        “อวัยวะที่ไม่ควรมองข้าม”
                                                                     จำรัส  เซ็นนิล  รวบรวม/เรียบเรียง
         เขียนถึงเท้าอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ใช้หอบหิ้วร่างกายไปตามที่ต่างๆที่เราปรารถนา และพาเราวิ่งหนีภยันอันตรายยามหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่น้อยคนนักจะสนใจดูแลส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับไปหน้ามากกว่า ฮ่าๆๆ
          เท้าจะประกอบไปด้วยกระดูก ๒๘ ชิ้น ต่อเข้ากับข้อเท้า มีกล้ามเนื้อที่เกาะมาจากขาท่อนล่างมาที่เท้า ๑๓ มัด และกล้ามเนื้อภายในฝ่าเท้าอีก ๑๙ มัด โครงสร้างของเท้ามีส่วนโค้งของฝ่าเท้าทั้งตามยาวและตามขวาง ทำให้เท้าสามารถรับน้ำหนักได้หลายเท่าของน้ำหนักตัว เท้ามีความแข็งแรงรับน้ำหนักไปที่ปลายเท้าได้ เช่น นักเต้นระบำบัลเล่ห์ และยังสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นผิวที่รองรับฝ่าเท้า เช่น เดินเท้าเปล่าบนพื้นทราย   ส่วนประกอบของเท้าแยกแยะได้เป็น ๓ ส่วน คือเท้าส่วนหน้า ซึ่งจะประกอบไปด้วยนิ้วเท้า และกระดูกตรงส่วนฝ่าเท้า  เท้าส่วนกลาง จะประกอบไปด้วยส่วนโครงของฝ่าเท้าและเท้าส่วนหลัง จะเป็นส้นเท้า
            นอกจากนั้นเท้ายังประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อเส้นเอ็นต่างๆมากกว่า ๑๐๐ ชิ้นเพื่อเป็นตัวช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของเท้า plantar fascia และ Achilles tendon หรือเรียกอีกอย่างว่า เอ็นร้อยหวาย เป็นเส้นเอ็นที่สำคัญมากและเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาได้เช่น โรคข้อเท้า โรคน้ำกัดเท้า
            ในวงการแพทย์แผนไทยและแผนจีนต่างชี้ให้เห็นว่า  อวัยวะภายในร่างกาย  ล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกับเท้า   หมอจีนจึงมีจุดแทงเข็มบนเท้าไม่ต่ำกว่า ๖๐ แห่ง  และการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นก็ถือเป็นศาสตร์หนึ่งในการเยียวยา รักษาอวัยวะภายในร่างกายเพราะการแช่เท้าในน้ำอุ่นมีผลในการเร่งให้เลือดลมเดินคล่องเส้นเอ็นแผ่ขยาย ทำให้ยินและหยาง  (ภาวะตรงข้ามที่เป็นคู่กัน) มีความสมดุล จึงสามารถขจัดโรคภัยไข้เจ็บ  ทำให้สุขภาพสมบูรณ์ได้
           มีบันทึกของแพทย์แผนจีนว่าสมัยราชวงค์ชิง เจิง กัว ฝาน แม่ทัพนามกระฉ่อนที่ปราบปรามพวกกบฎไทผิงจะดูแลสุขภาพตนเองทุกคืนก่อนนอนถึงแม้ผ่านศึกสงครามมามากมายสุขภาพก็ยังแข็งแรง อีกคนคือลูอิ๋ว  กวีใหญ่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้      ( คศ.๑๑๒๕-๑๒๑๐)  เป็นอีกผู้หนึ่งที่นิยมการแช่เท้าในน้ำร้อนก่อนเข้านอน ดังจะเห็นได้จากบทกลอนของท่าน ดังนี้
                               
  "เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา  ทำไร่ไถนาคงไม่ไหว  
                              เลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมูพอสู้ได้    มิเคยอยู่ว่างอย่างเปล่าดาย       
                              ค่ำลงก่อนนอนพักผ่อนกาย ลูกหลานหญิงชายช่วยดังหมาย
                              รับใช้ ปู่ ตา พาสบาย  ต้มน้ำร้อนให้แช่เท้าเอย"  

         สำหรับคนไทยนอกจากน้ำร้อนแล้วยังผสมสูตรสมุนไพรเข้าไปอีกเวลาเราแช่นอกจากสมุนไพรซึมซับเข้าสู่ผิวหนังแล้ว กลิ่นของสมุนไพรทำให้เราสดชื่นไปในตัวอีกด้วย เมื่อครั้งผมไปทำข่าวที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ บ้านท่าด่าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ก็ได้ทดลองทำสปาเท้าคือแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพรอุ่นๆจนป่านนี้คิดถึงทีไรก็ยังประทับใจไม่หาย
        ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ มีพื้นที่ ๑๔ ไร่เศษ อยู่ในความดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา ห่างจากเขื่อนขุนด่านปราการชล นครนายกประมาณ ๒๐๐ เมตร ศูนย์นี้เผยแพร่แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการเกษตร มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต  มีฐานการเรียนรู้มากมาย เช่นการทำสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ปุ๋ยหมัก สร้างบ้านดิน พอกตัวล้างพิษและการแช่มือแช่เท้า   ใครสนใจศึกษาดูงานหรืออบรมเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ ๑ วันจนถึง หลักสูตร ๕ วันก็ประสานไปได้ที่ ๐๓๗-๓๘๔-๐๔๙ ท่านจะมีความสุขกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อยู่กับธรรมชาติอย่างมีความสุข
       สมุนไพรที่ใช้ต้มเพื่อแช่เท้ามี เกลือ น้ำเกลือช่วยดูดซับประจุเสียจากร่างกายได้เทียบเท่ากับการที่เราสัมผัสพื้นดินด้วยเท้าเปล่า ใส่เกลือ ๑-๒ ช้อนชาต่อน้ำแช่เท้า ๑ กะละมังก็เพียงพอ นอกนั้นก็มี ตะไคร้หอม ขิง ผิวมะกรูดซึ่งจะกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และกลิ่นยังทำให้รู้สึกสดชื่น  ใบส้มป่อยเพื่อบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ใบส้มเสี้ยวเพื่อ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ใบมะขามเพื่อ แก้อาการคัน ไพลบรรเทาอาการอักเสบและการเคล็ด ขัดยอกของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ขมิ้นบรรเทาอาการอักเสบและบำรุงผิว ทำให้ผิวนุ่มเนียนใช้อย่างละ ๑ ส่วน นำมาต้มแช่เท้าไว้  ๑๐-๑๕ นาทีเป็นประจำ ทำให้เลือดลมไหลดี ช่วยลดกลิ่นอับ คลายการปวดเมื่อยเท้า เกิดการผ่อนคลายร่างกาย จิตใจ ปรับกระบวนการย่อยสลายอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานของร่างกายได้เป็นอย่างดี
     วิธีแช่เท้า คือ  ในขั้นแรกใช้น้ำสมุนไพรที่มีอุณหภูมิราว  ๔๐ - ๕๐ องศา  ปริมาณพอท่วมนิ้วเท้า  แช่ไว้สักครู่จึงค่อย ๆ  เติมน้ำเพิ่มจนสูงถึงกระดูกข้อเท้า อุณหภูมิของน้ำราว  ๖๐ องศา   ขณะที่เท้าแช่อยู่ในน้ำ  ให้สองเท้าเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง  หรือเอาสองเท้าถูกันไปมาเพื่อให้เลือดหมุนเวียน     ไม่ควรแช่เท้านานเกิน ถ้าแช่นานเกิน ๒๐นาที ควรจะใช้ผ้าชุบน้ำร้อนหรือน้ำเย็นโพกศีรษะ เพื่อช่วยระบายความร้อนออกทางศีรษะ
        ระหว่างแช่เท้าถ้าเราเสริมการนวดเท้าเข้าไปด้วยยิ่งดีเพราะการบีบนวดช่วยให้ของเสียอุดตันหลุดง่ายขึ้นเหมือนการขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลสะดวกขึ้นสำหรับแนวการนวดให้นวดสันด้านข้างเท้าด้านในซึ่งเป็นแนวกระดูกสันหลัง บีบนวดไล่จากสันเท้าขึ้นไปถึงนิ้วหัวแม่เท้า เทียบเท่าการดูแลกระดูกสันหลังจากก้นกบขึ้นไปถึงศีรษะ จะช่วยให้ทุกๆระบบซึ่งเชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังทำงานดีขึ้น
       จับนิ้วเท้าแต่ละนิ้วโยกซ้ายขวาขึ้นลงหมุนๆไปหมุนๆกลับ เทียบเท่ากับหมุนคอช่วยให้ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น งอนิ้วล้วงจากโคนนิ้วเท้าขึ้นมาปลายนิ้วทุกนิ้ว เทียบเท่ากับการนวดคอและท้ายทอย ทำให้เลือดไปเลี้ยงจมูก ตา หู มากขึ้น  นวดหลังเท้าและข้อเท้าเทียบเท่ากับการนวดกล้ามเนื้อเส้นเอ็น  ต่อมน้ำเหลืองของร่างกายด้านหน้าและเอว
      นวดฝ่าเท้า ส่วนที่ชิดโคนนิ้วเท้า เท่ากับนวดบ่า นวดส่วนกลางเท้าคือระบบอวัยวะภายในช่องอก ช่องท้องช่วยให้การย่อยอาหารและขับถ่ายดีขึ้น นวดข้างเท้าด้านนอกเทียบเท่ากับการนวดแขนขา นวดไต้ตาตุ่มช่วยให้ข้อสะโพกสบายขึ้น นวดบริเวณด้านข้างของส้นเท้า ทั้งด้านนอกและด้านใน ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนทั้งเพศชายและหญิง สำหรับผู้ที่เข้าวัยทอง ส่วนวัยทองแดงคงลำบาก ฮ่าๆๆ
     หลังจากแช่เท้าพร้อมกับนวดตามเวลาที่กำหนดเสร็จ ยกเท้าขึ้นจากน้ำแล้วเช็ดให้แห้ง 
ขอย้ำหลังแช่เท้าเสร็จแล้วไม่ควรทำกิจกรรมอื่นใด เช่นทำการบ้าน ฮ่าๆ ควรเข้านอนทันที ท่านจะหลับสบายหลับลึก ถึงแม้ขโมยเข้าบ้านก็ไม่รู้สึกตัว ฮ่าๆๆ
                                   ---------------------------------------------------------------
 
 
 
 
  

blog comments powered by Disqus