10 มี.ค. 2555 เวลา 9:20 น., โดย จำรัส เซ็นนิล
ขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน
จำรัส เซ็นนิล รวบรวม/เรียบเรียง |
จริงๆแล้วผมจะไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนักในการที่จะมาตอบปัญหาที่แฟนคลับ JAMRAT.NET สอบถามมา ส่วนใหญ่นอกจากภารกิจประจำ อ่านข่าว จัดทำรายการวิทยุแล้ว เบื้องหลังก่อนออกอากาศ ต้องเตรียมข้อมูล ทั้งด้านข่าว - การประสานแหล่งข่าว และหาประเด็นเนื้อหาใหม่ๆมานำเสนอ ไม่ให้ซ้ำ การจัดรายการก็เหมือน พ่อครัวต้องปรุงอาหารหลากหลายไม่ให้คนกินเบื่อ
ถ้ามีการสัมภาษณ์บันทึกเทปนอกสถานที่ก็ต้องนำมาตัดต่อใหม่อยู่ในห้องบันทึกเสียงเป็นชั่วโมงเปรียบเหมือนซื้อผักสดมาจากตลาด กลับมาต้องล้าง หั่นซอยเตรียมให้พร้อมก่อนปรุงแล้วก็มาทำบทเตรียมผังรายการ ( LAY-OUT) ก่อนออกอากาศ ๔ ชุด ให้คนควบคุมเสียง ๑ ชุด ผู้ประสานงาน ๑ ชุด ผู้ดำเนินรายการ ๒ คน คนละชุด ทำแบบนี้ทุวัน แล้วยังมีคิวจร อ่านสปอต อ่านสารคดี รับแขกแฟนรายการที่บุกมาเยี่ยมโดยไม่บอกล่วงหน้า
เขียนเรื่องสมุนไพร ทำไมกลายมาเป็นเรื่องการจัดรายการไปแล้ว เป็นอย่างนี้แหละครับ เหมือนครูสอนประวัติศาสาตร์เวลาต่อว่า(ด่า) นักเรียนก็จะนำเรื่องใกล้ตัวมาประยุกต์
“ เธอจะดื้อ...หาพระแสงดาบคาบค่ายอะไร..” ฮ่าๆๆ
ทุกวันนี้เวลาไปไหน ผมมีความรู้สึกอยู่ในใจตลอดว่าวันนี้ ผมจะนำอะไรมาฝากแฟนรายการวิทยุและแฟนเน็ต จะคอยหาเวลาเช้าๆ หรือ ดึกๆพอเงียบๆ จะเอาองค์ความรู้ที่ไปพบเห็นมาเขียนๆๆ ผมว่าเขียน ๓ ปีไม่หมด ไม่นับจดหมายที่ส่งมานับหมื่นฉบับ ผมทยอยลงทะเบียนแล้วส่งเอกสารที่ผมพิมพ์ไว้แจกส่งกลับไปตอบแทนน้ำใจ ที่คิดถึงผมจดหมายมาเหมือนพี่เหมือนน้อง
ในชีวิตนี้ ถ้าเดินทางผ่านจังหวัดไหนโอกาสอำนวย ผมจะโทรหาและแวะเยี่ยมทุกจังหวัด ซึ่งผมทำมาตลอดชีวิต มีความ สุขจริงๆครับ บางคนประสบความสำเร็จ บางคนล้มเหลวทั้งอาชีพและครอบครัว ผมก็ช่วยได้เท่าที่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็กำลังใจและแนวทางต่อสู้ชีวิตต่อไป เขาและผมเท่านั้นที่รู้ ชนะใจชนะทุกสิ่งครับ เอ้ามาคุยเรืองขมิ้นดีกว่าครับ |
|
ขมิ้น คนทั่วไปเรียกขมิ้น บ้างก็เรียกขมิ้นชัน , ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยวก, ที่เชียงใหม่เรียกขมิ้นหัว ภาคใต้ออกเสียงห้วนๆหน่อยเรียกหมิ้น เป็น พืชล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดินเนื้อในของเหง้า ขมิ้นชันมีสีเหลืองเข้ม จนสีแสดจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบรูปเรียวยาวปลายแหลมคล้ายใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ออกตรงกลางระหว่างใบคู่ในสุดดอกสีขาว มีแถบสีเหลืองคาด มีกลีบประดับสีขาวหรือเขียว
|
 
|
เหง้าของขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา ลดการ อักเสบ และ มีฤทธิ์ในการ ขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหย ในขมิ้นชัน มีสรรพคุณบรรเทา อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด |
แก้แพ้แก้อักเสบ แผล ฝีพุพอง แมลงสัตว์กัดต่อยภายนอก
ให้ใช้เหง้ายาวประมาณ ๒ นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น วันละ ๓ ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการ ผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ |
ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดและอาหารไม่ย่อย
ใช้เหง้าขมิ้น ไม่ต้องปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัด ๆ สัก ๑-๒ วัน บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ ๒-๓ เม็ด วันละ ๓-๔ ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน ถ้ามีอาการท้องเสียให้หยุดยาทันที |
นอกจากโรคเกี่ยวกับท้องแล้ว ขมิ้นยังมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายและช่วยบำรุงตับ รักษาระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติ หืด ไอ เวียนศีรษะ รักษาอาการปวดและอักเสบเนื่องจากไขข้ออักเสบอีกด้วยคะเพราะว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพิ่มภูมิคุ้นกันให้แก่ร่างกาย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง มีฤทธิ์ขับน้ำดีช่วยในการย่อยและป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีฤทธิ์ขับลม |
มีการวิจัยศึกษาพบว่าขมิ้นชันสามารถป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือด การชลอความแก่ การเป็นสารต้านมะเร็งและเนื้องอกต่างๆ พบว่า การกินอาหารผสมขมิ้นสามารถทำลายเชื้อไวรัสที่ผ่านมาทางอาหารได้ รวมทั้งสามารถป้องกันมะเร็งจากสารก่อมะเร็งต่างๆ และยังมีสรรพคุณในการต้านไวรัส โดยเฉพาะเชื้อ HIV อันเป็นต้นเหตุของโรคเอดส์ ขมิ้นชันจึงเป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้ป่วยเอดส์ |
แต่การเลือกขมิ้นชันมากินนั้น หากต้องเลือกเอง ขุดเอง ควรเลือกขมิ้นชันที่ได้คุณภาพ คือ ขมิ้นชันต้องมีอายุอย่างน้อย ๙-๑๒ เดือน จึงสามารถขุดเหง้ามาทำยาได้ และต้องไม่เก็บไว้นานเกินไป จนน้ำมันหอมระเหยหายหมด และต้องไม่ลืมว่า แสงมีปฏิกิริยากับสารสำคัญคือ เคอร์คิวมินในขมิ้นชัน ต้องเก็บให้พ้นแสงด้วย มิฉะนั้นจะได้รับประทานแต่กากขมิ้นชันเท่านั้นเอง ฮ่าๆๆ |
สำหรับขมิ้นชัน ผมรู้ความลับมาว่าสาวอินเดียส่วนใหญ่จะนำมาทาผิวหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก ส่วนสาวพม่าจะนำขมิ้นชันผสมสมุนไพร”ทานาคา” จะทำให้เนื้อผิวละเอียดสวยชนิดที่หนุ่มมองไม่วางสายตาเลยล่ะ..ไม่เชื่อลองดู
ด้านภูมิปัญญาไทยบ้านเราสมัยก่อนจะใช้ขมิ้นในการอาบน้ำ ทำให้ผิวผ่องยิ่งขึ้น วิธีการอาบน้ำด้วยขมิ้นนั้น จะทาขมิ้นหมักไว้ที่ผิวหนังสักพัก แล้วจึงขัดออกด้วยส้มมะขามเปียก ทำให้ผิวหนังนุ่มนวลเนียน สาวสมัยก่อนถ้าทำเช่นนี้ตลอด จะไม่ขึ้นคาน ใครเห็นใครชอบชวนให้หลงใหล ชะนี้แล
ข้อแตกต่างของขมิ้น
- ขมิ้นอ้อย เป็นพืชล้มลุก เหง้าจะลอยขึ้นมาเหนือพื้นดินในขณะที่ถึงหน้าแล้ง ใบแห้งลงหัว ทำให้บางครั้งเรียก ว่าขมิ้นหัวขึ้น เนื้อในเหง้าสีอ่อนกว่าขมิ้นชัน
- ขมิ้น (ขมิ้นชัน) พืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในสีเหลืองอมส้ม
- ขมิ้นขาว เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นและใบเหมือนกับขมิ้น แต่ลำต้นเตี้ยกว่าขมิ้น เหง้าใต้ดินมีสีขาว
-----------------------------------------
ผลงาน.. ๑๐ มีค.๒๕๕๕
๐๔.๐๙ น. |
|
|
|
|
|