4 ก.ค. 2554 เวลา 10:45 น., โดย จำรัส เซ็นนิล
มหัศจรรย์มะกรูด
มะกรูด ๔ ลูก
รักษาอัมพฤกษ์-ภูมิแพ้
คุณเยาวลักษณ์ ปรางสุวรรณ
ผมได้รับคำแนะนำจากคุณเยาวลักษณ์ ปรางสุวรรณ ผู้จัดรายการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดลำปางว่า อ.วิยะดา รังษี อดีตข้าราชการครูบำนาญ ที่ปรึกษาสภาผู้สูงอายุลำปาง ท่านมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรมาก โดยเฉพาะเรื่องมะกรูด ๔ ลูก รักษาโรคอัมพฤกษ์ จึงได้ติดต่อ อ.วิยะดา มาสัมภาษณ์ในรายการวิทยุ “ทั่วทิศถิ่นไทย” วันศุกร์ที่ ๑๔ มิย.๕๔
ผลปรากฏว่าหลังออกอากาศแล้ว มีท่านผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาจำนวนมากบอดจดไม่ทันผมบอกว่า
“ จะจดทันได้อย่างไร ผมสวัสดีท่านผู้ฟัง ไม่ได้สวัสดีท่านผู้จด ถ้ามัวแต่คุยกับผู้จด สามวันก็ไม่หมด”
เพื่อความสบายในของทุกท่าน ผมเลยนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกหลายๆครั้ง พร้อมกับนำรายละเอียดมาให้อ่านอีกครั้งใน webe:jamrat.net อ.วิยะดา บอกว่าตำรับนี้ได้มาจากเพื่อนครูด้วยกัน แนะนำว่า
“ เอามะกรูดแก่จัดมา ๔ ลูก แล้วนำมาผ่าครึ่ง ควักเมล็ดเนื้อข้างในออก
ลูกแรก...เอาพริกไทยดำบดละเอียดใส่เข้าไป
ลูกที่สอง ...เอาดีปลีบดละเอียดใส่เข้าไป
ลูกที่สาม...ใส่กระเทียมที่ปลอกเปลือกแล้วเข้าไป
ลูกที่สี่...เอาเกลือตัวผู้ ๑ ช้อนโต๊ะ แบ่งใส่ผ่าละครึ่งช้อนโต๊ะ
หลังจากนั้นนำมะกรูดทั้งหมดเอาไปนึ่งให้สุก แล้วเอามาบดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งพอเป็นกระสายยาคนให้เข้ากัน
เก็บไว้ในตู้เย็น ให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์กิน ขนาดเท่าหัวแม่มือ ก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน
อาการอัมพฤกษ์ และภูมิแพ้จะหายไป มีผู้ป่วยหลายรายทดลองกินได้ผลมาแล้ว
ติดต่อ อ.วิยะดา รังษี ๐๘-๖๗๕๖-๕๐๑๓
มะกรูด
มะกรูด เป็นพืชคู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน สมัยเด็กๆเห็นคุณพ่อปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน เข้าไปในครัวเห็นคุณแม่เก็บไว้ในตู้เป็นเครื่องเคียงไว้ปรุงอาหาร ทุกวันนี้เห็นดาษดื่นทั่วไปส่วนใหญ่จะนำไปทำน้ำยาหมักผมที่มีคุณภาพ และเป็นผลิตภัณท์ของวงการสปาที่มีกลิ่นหอมธรรมชาติชื่นใจ มะกรูด มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ภาคเหนือเรียก มะขุน มะขูด หนองคายเรียก มะหูด ภาคใต้เรียก ส้มกรูด ส้มมั่วผี เขมรเรียก โกรยเซียด กะเหรี่ยงที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียก มะขู
มะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลัก ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล, ไอโซพูลิโกล และไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซี และกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ ยิ่งค้นคว้ายิ่งเห็นว่า มะกรูดมีประโยชน์มากมาย ทำให้ผมอยากรณรงค์ให้ทุกท่านปลูกไว้ประจำบ้านคนละต้นสองต้น
ในอนาคตผมจะปลูกไว้ที่สวนภูเรือ “ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรไทย” รวบรวมสายพันธ์ต่างๆไว้ศึกษา ในวงการแพทย์แผนไทยยกย่องมะกรูดว่าเป็นสมุนไพรเด่นที่มีคุณสมบัติ ใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่าง ๆ คือ น้ำในผลแก้อาการท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยา เพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตสตรี เนื้อของผลใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผลมะกรูดที่คว้านไส้ออกนำมหาหิงส์ใส่แทนใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อน
มะกรูดใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ กรด Citric ช่วยขจัดคราบสบู่ (ด่าง) ที่หลงเหลืออยู่ ทำให้ผมหวีง่าย น้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม ใช้ปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ในดับกลิ่นคาวของอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในครื่องแกงต่าง ๆในบางตำรับยาบอกว่ามะกรูดสามารถขับลมแก้จุกเสียด วิธีใช้ ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก เอามหาหิงส์ใส่แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งรับประทาน จะช่วยขับลม แก้ปวดท้องหรือป้ายลิ้นเด็กอ่อน เป็นยาขับขี้เทาได้
น้ำมะกรูดใช้ถูกฟัน แก้เลือดออกตามไรฟัน เอาผลมะกรูดมาดอง เป็นยาดองเปรี้ยวรับประทานขับลมขับระดู เปลือกผลฝานบาง ๆ ชงน้ำเดือดใส่การะบูรเล็กน้อย รับประทานแก้ลมวิงเวียน เปลือกฝนใช้ผสมในเครื่องสำอางบางชนิด เช่น แชมพู สบู่ เป็นต้น
สารพัดประโยชน์และคุณค่าจากมะกรูด รีบหามาปลูกนะครับ หากจะถามว่าปลูกวันไหนดีที่สุด ผมว่าปลูกวันนี้ และเดี๋ยวนี้ ดีที่สุดครับ ฮ่าๆๆ
คุณทานตะวัน ได้เขียนไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ ๑๗๐ ว่า คุณค่าของมะกรูดในการบำรุงเส้นผมนั้นอาจเป็นสิ่งที่หลายๆ ท่านรู้กันดีอยู่แล้ว เพราะแม้กระทั่งผู้ผลิตยาสระผมบางรายยังใช้เป็นประเด็นในการโฆษณาว่า แชมพูของตนผสมมะกรูด มะกรูดไม่เพียงแต่ทำให้ผมดำเป็นเงางามเท่านั้น แต่ยังช่วยกำจัดรังแคแก้คันศีรษะ แก้ผมแตกปลายป้องกันผมร่วง และทำให้ผมหงอกช้า มะกรูดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ จึงไม่ต้องกลัวแพ้เหมือนแชมพูที่ทำจากสารเคมี ที่สำคัญมะกรูดบำรุงผมได้ทุกชนิด คนผมแห้งหรือผมมันก็ใช้ได้
วิธีใช้มะกรูดสระผม
การนำมะกรูดมาสระผมนั้นมีหลายวิธีให้เลือก ดังนี้
1. เอามะกรูดสดๆ มาผ่าครึ่ง แคะเอาเม็ดออก บีบเอาน้ำมาใช้สระผม แต่วิธีนี้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ผิวมะกรูด
2. ปอกผิวมะกรูดออก นำมาตำให้ละเอียด แล้วบีบน้ำมะกรูดผสมลงไป เติมน้ำลงไปอีกพอให้ส่วนผสมเริ่มเหลว คนให้เข้ากันดี ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วกรองคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ วิธีนี้เวลาสระจะได้กลิ่นเหม็นเขียวจากผิวมะกรูด แต่สระเสร็จแล้วจะหอมได้ผลดีที่สุด
3. เอาลูกมะกรูดมาหั่นเป็นชิ้นและนำมาเข้าเครื่องปั่นจนละเอียดที่สุด เอาออกมาใส่ชามเติมน้ำอุ่นลงไปจนท่วม คนให้ทั่ว ตั้งทิ้งไว้ 10-20 นาที คั้นเอาแต่น้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ น้ำมะกรูดจะอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ สำหรับมะกรูดนั้นจะใช้มะกรูดสดหรือเผาไฟก่อนก็ได้
เมื่อได้น้ำมะกรูดแล้วก่อนสระผมควรราดผมให้เปียกชุ่มเสียก่อน เนื่องจากน้ำมะกรูดมีฤทธิ์เป็นกรดแก่ กัดหนังศีรษะได้ น้ำมะกรูดเมื่อเจือจางลง ฤทธิ์อ่อนลงไปด้วย ขณะที่สระผมควรนวดศีรษะไปด้วย ทิ้งไว้สองสามนาที ล้างออกและสระซ้ำอีกครั้ง แล้วล้างออกให้สะอาด อย่าให้มีเศษมะกรูดหลงเหลืออยู่ เพราะจะทำให้ผมเสีย ที่สำคัญระวังอย่าให้น้ำมะกรูดเข้าตาหรือถูกปาก เพราะจะรู้สึกแสบตาและชาปาก เวลาใช้ตอนแรกอาจจะรู้สึกแสบที่หนังศีรษะบางแห่ง แสดงว่าตรงนั้นมีแผลอยู่ ไม่เป็นอันตรายอะไรใช้ไปเรื่อยๆ จะหายเอง แต่ถ้ารู้สึกแสบทั้งหนังศีรษะแสดงว่าน้ำมะกรูดข้นไป ต้องผสมน้ำให้เจือจางอีก หลายๆ คนอาจจะเคยอยากใช้มะกรูดสระผม แต่ขี้เกียจยุ่งยาก ดิฉันอยากให้ลองทำดูนะคะ มะกรูดเราก็มีขายอยู่ทั่วไป ขั้นตอนการทำก็เพลิดเพลินดี ที่สำคัญผลที่ได้นั้นทำให้ผมสวยจริงๆ ค่ะ สระผมครั้งต่อไป ใช้มะกรูดกันเถอะค่ะ
ในหนังสือชีวจิตได้เขียนถึงเรื่องมะกรูดไว้อย่างน่าสนใจว่า ในอดีตได้มีการนำเอามะกรูดไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งระบุไว้ว่าจะต้องมีผลมะกรูดและใบส้มป่อยประกอบในพิธีด้วย ส่วนในวรรณคดีไทยหลายเรื่องได้กล่าวถึงมะกรูดไว้อย่างไพเราะเพราะพริ้งทีเดียวค่ะ เช่น กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
มะกรูดสองแถวทาง คิดมะกรูดนางสางสระผม
แก้เกล้าเจ้าผึ่งลม กลิ่นขจรขจายเรียมสบายใจ
มะกรูดสองเถื่อนถ้อง แถวพนม
มะกรูดเหมือนนางสระผม พ่างเพี้ยง
แก้เกล้าเจ้าผึ่งลม รวยรื่น
ขจรสุคนธกลิ่นเกลี้ยง รื่นล้ำเรียมสบายฯ
ปัจจุบันมีแชมพูและครีมนวดผมจากมะกรูดวางจำหน่าย บางยี่ห้อมีส่วนผสมของตะไคร้ช่วยป้องกันผมแตกปลาย หรือมีส่วนผสมของน้ำมันงา ช่วยบำรุงผมให้นิ่มดกดำ หรือดอกอัญชัญ ซึ่งช่วยป้องกันผมหงอกก่อนวัย แต่ที่พิเศษสุดเห็นจะเป็นการนำมะกรูดและน้ำกาแฟมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยปิดผมขาว ช่วยเคลือบเส้นผมแบบธรรมชาติ พร้อมทั้งบำรุงรากผมที่เกิดใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่โกรก หรือย้อมผมเป็นประจำด้วย แต่ใครที่สนใจอยากลองทำแชมพูมะกรูดใช้เอง ก็สามารถทำได้นะครับ
วิธีทำน้ำมะกรูดด้วยการเผาไฟ เหมาะสำหรับขจัดรังแค แก้คันศีรษะใช้หมักผมและหนังศีรษะ
-
นำมะกรูดเผาไฟให้พอมีน้ำมันซึมออกมาจากผิว และมีกลิ่นหอม
-
ผ่าครึ่ง บีบเอาเฉพาะน้ำมาชโลมให้ทั่วหนังศีรษะ หมักไว้ประมาณ 15-30 นาที ล้างออกด้วยน้ำสะอาด
วิธีทำน้ำมะกรูดด้วยการต้ม เหมาะสำหรับ สระแทนแชมพู ทำให้ผมนิ่ม ลื่น รักษาอาการคันศีรษะ
-
นำมะกรูดผ่าครึ่ง ต้มกับน้ำเล็กน้อย (น้ำ 2ถ้วย ต่อมะกรูด 1 ลูก) ตั้งไฟพอเดือดยกลง ปิดฝาทิ้งไว้จนอุณหภูมิลดลง นำมาคั้นแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อไม่ให้เกร็ดเล็กๆของมะกรูดติดกับผม
-
นำน้ำมะกรูดที่ได้มาชโลมให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ ใช้ทำความสะอาดเส้นผมแทนแชมพู หรือใช้เคลือบเส้นผมแทนครีมนวดผม ทำให้ผมหวีง่ายไม่พันกัน
แชมพูมะกรูดสูตร 1
ส่วนผสม
-
มะกรูด 3-5 ผล
-
ใบหมี่ 10 ใบ
-
น้ำซาวข้าวเหนียว 1 ลิตร
วิธีทำ
-
มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก ตั้งน้ำพอเดือด ใส่มะกรูดและใบหมี่ลงไปในหม้อ
-
รอให้เดือดต่อประมาณ 10 นาที ปิดฝา ยกลง
-
รอจนเย็นลง ใช้ผ้าขาวบางกรองเอากากออก แล้วเก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู
หมายเหตุ วิธีการทำน้ำซาวข้าวเหนียว ให้นำข้าวเหนียวประมาณ 1 ลิตร แช่น้ำพอท่วม (ใช้น้ำประมาณ 1 ลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง จะได้น้ำซาวข้าวเหนียวสีขาวขุ่น
แชมพูมะกรูดสูตร 2
ส่วนผสม
-
มะกรูด 3-5 ผล
-
หญ้าปักกิ่ง ถ้วย
วิธีทำ
-
มะกรูดผ่าตามขวางเป็นสองซีก หญ้าปักกิ่งทั้งต้นล้างน้ำให้สะอาดใช้ทั้งราก ทั้งใบ
-
ใส่มะกรูด หญ้าปักกิ่ง น้ำซาวข้าว ในหม้อตั้งไฟปานกลาง รอให้เดือดประมาณ 20 นาที ปิดฝายกลง
-
รอจนน้ำเย็น สังเกตสีของน้ำจะคล้ำขึ้น ใช้มือคั้นเอาแต่น้ำ ทิ้งกาก
-
กรองด้วยผ้าขาวบางอีกครั้ง เก็บใส่ขวดไว้ใช้สระผมแทนแชมพู
หมายเหตุ หากไม่มีน้ำซาวข้าวเหนียวให้ใช้น้ำเปล่าแทนได้ น้ำซาวข้าวเหนียวมีฤทธิ์เย็น ช่วยรักษาความชุ่มชื่นของหนังศีรษะ ลดอาการคัน แก้ผดผื่น สิว บนหนังศีรษะได้ดี
เป็นอย่างไรครับ ได้ข้อมูลหลายแง่มุมแล้ว มะกรูดควรจะปลูกไว้ข้างบ้านท่านได้หรือยังครับ ทั้งกินทั้งดูแลสุขภาพ ประหยัดเงินได้อีกตั้งเยอะ แถมว่างๆเวลาไปเยี่ยมญาติ ก็หอบมะกรูดไป เป็นของฝากได้อีกด้วย
“ อยากปลูกมะกรูดจังเลย”
--------------------------------------------------------------