เรื่องเล่าสุขภาพ

สมุนไพรสาบเสือ (หญ้าเสือหมอบ)
                     สมุนไพรสาบเสือ( หญ้าเสือหมอบ)
                                 “ห้ามเลือด หมักผมดำ”
                                                    จำรัส  เซ็นนิล  รวบรวม/เรียบเรียง
                                     สมุนไพรสาบเสือหรือหญ้าเสือหมอบ  คนในแถบชนบทจะรู้จักดีเพราะขึ้นทั่วไปคนเมืองกรุงอาจจะหาดูยากสักหน่อย สาบเสือฝรั่งเรียกBitter bush, Siam weed  เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่าย  จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดี  เราใช้" ต้นสาบเสือ" เป็นดรรชนีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า สาบเสือ ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลย แต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน นอกจากกลิ่นสาบเสือ แต่ต้องดูดีๆว่าหนีเข้าดงสาบเสือหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ทั้งคนทั้งต้นพืช คงหายวับอยู่ในปากเสือ  ฮ่าๆๆ

 

                สาบเสือในแต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่นช้ าผักคราด ไช้ปู่กอ  ชิโพกวย  เซโพกวย  บ่อโส่  บ้านร้าง  เบญจมาศ   ผักคราด ผักคราด บ้านร้าง  ฝรั่งรุกที่  ฝรั่งเหาะ  พาทั้ง   คนเพชรบูรณ์เรียกต้นมนทน  บ้างก็เรียกมุ้งกระต่าย  ยี่สุ่นเถื่อน รำเคย เส้โพกวย หญ้าค่าพั้ง หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หญ้าฝรั่งเศส หญ้าพระศิริไอยสวรรค์ หญ้าเมืองวาย หญ้าเมืองฮ้าง หญ้าลืมเมือง หญ้าเลาฮ้าง หญ้าเหม็น  หนองเส้งเปรง  หมาหลง หญ้าเสือหมอบ ฝรั่งเหาะ ฝรั่งรุกที่ หญ้าครกขาว หญ้าเมืองงาย แฟนคลับจำรัสดอทเน็ตที่สงขลาบอกที่บ้านเรียกต้นขี้ไก่ สาบเสือเพียงต้นเดียวเรียกกันหลายชื่อมาก...งงครับ
            ถิ่นกำเนิดสาบเสือ เป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา ระบาดไปทั่วเขตร้อนของโลกทุกทวีป ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลียซึ่งเพิ่งจะพบเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาภายใน ๑๐ ปีที่ผ่านมา
            ลักษณะของพืชสาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม  ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายสาบเสือ มีลำต้น สูง ๑-๒ เมตร ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบ หยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน ๓ เส้น มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย ๑๐-๓๕ ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็น ห้า เหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วน ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม
        ใบของสาบเสือมีสารสำคัญคือ กระอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน นอกจากนี้ยังมีสารพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดหดตัว และนอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้ ส่วนดอกของสาบเสือเป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ แก้ไข้
       สรรพคุณของสาบเสือมีมากมาย ใช้เป็นยารักษาแผลสด สมานแผล ถอนพิษแก้อักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาแผลเปื่อย   ต้นเป็นยาแก้ ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม ดูดหนอง แล้วนอกจากนี้ ใบสาบเสือ ยังมีฤทธิ์ พิชิตปลวกได้อีกด้วย
     ปราชญ์พื้นบ้านหลายคนเล่าให้ผมฟังว่า ใบสาบเสือห้ามเลือดได้ดีที่สุดคือ เคยถูกมีดบาด เป็นแผลใหญ่พอควร  ก็เด็ดใบสาบเสือมาขยี้ในมือแล้วเอาแปะไปตรงแผล สักครู่เลือดก็หยุดไหล แต่แสบมากๆ  ข้อดีคือ หลังจากแผลหายแล้ว ไม่มีแผลเป็น   สรรพคุณอีกข้อหนึ่งก็คือ  ทั้งต้นและใบสาบเสือสามรถขจัดน้ำเน่าได้  เอาทั้งใบและต้นใส่ลงไปแช่ในบ่อน้ำเน่า   ผ่านไป ๒-๓ สัปดาห์  น้ำจะเริ่มใสขึ้นเรื่อยๆ
   คุณจุรีรัตน์  ศักดาศรี อยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ( ๐๘-๑๖๘๘-๘๖-๗๐ ) แนะนำผมว่าคุณแม่ได้สูตรเด็ดมาจากจังหวัดน่าน ใครที่ผมหงอกต้องการผมดกดำ ให้ใช้ใบสาบเสือตำแล้วนำมาหมักผม ทำบ่อยๆ ไม่นานผมท่านจะดกดำ คำขวัญที่ว่าหมวกคือมิตร ศัตรูคือลม เลิกใช้ได้เลย ฮ่าๆๆ
                                                    ---------------------------------------------------------------
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
  

blog comments powered by Disqus