18 ม.ค. 2556 เวลา 7:53 น., โดย จำรัส เซ็นนิล
โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า
“บำบัดด้วยจิต”
จำรัส เซ็นนิล รวบรวม/เรียบเรียง
ในโลกเราทุกวันนี้ ล้วนเต็มอยู่ด้วยปัญหาซับซ้อน ที่ทำให้จิตใจเดือดร้อนวุ่นวายมากมายสารพัด เราต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้นับตั้งแต่ลืมตาขึ้นจากที่นอน เริ่มตั้งแต่การที่ต้องอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน หาอาหารใส่ท้อง ออกไปทำงานเผชิญปัยหาในหน้าที่การงานเรื่อยไปจนกว่าจะหลับตานอนอีกครั้งหนึ่งในค่ำคืน หมุนเวียนไปอย่างนั้น
ปัญหาเหล่านี้จะหนักเบาและเป็นภาระสร้างความวุ่นวายเดือดร้อนรำคาญได้มากน้อยเพียงใดแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับภาวะจิตใจของแต่ละคนว่า แข็งแกร่งหรืออ่อนแอพอที่จะรับภาระในการแก้ปัญหาได้เพียงใด
การมองโลกในแง่ดี และไม่เอาจิตใจเข้าไปรองรับหรือผูกพันกับปัญหาให้มากเกินไป ก็เท่ากับเป็นการรักษาภาวะจิตใจไม่ให้เดือดร้อนวุ่นวายรุ่มร้อน มีคนกล่าวไว้ว่า ชัยชนะของชีวิตที่ยอดยิ่ง คือการรู้จักควบคุมรักษาจิตและอารมณ์ไว้ได้เสมอ
จิตใจสะอาด เวลาเช้า จิตใจขาว เวลาเพล จิตใจเย็นเวลาค่ำ จิตใจชุ่มฉ่ำ เวลากลางคืน จิตใจสดชื่น เวลาทำงาน ถามว่าจะเอาเวลาใหนมาเศร้าครับ..ฮ่าๆๆๆ

จากหนังสือประสบการณ์จากสมาธิวิญญาณ ๑ ตามแนวคำสอนสมเด็จโต สมาธิทางสงบถอดจิต รวบรวมโดย แสง อรุณกุศล เขียนไว้ว่าพลังพละกำลังทางก่ายเนื้อ เกิดขึ้นจากการเผาผลาญสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไปเลี้ยงเซลล์เป็นตัวก่อกำเนิดพลังงานให้กายเนื้อทำงานได้ ส่วนพลังพละกำลังทางจิต เกิดขึ้นจากการรวบรวมไฟฟ้าในเซลล์ควบแน่นให้เป็นหนึ่ง ยิ่งอัดแน่นมากเท่าไหร่ก็ก่อเกิดกำลังมากขึ้น พลังจิตก็คือพลังงานไฟฟ้ารูปหนึ่ง พลังจิต....คือความนึกคิด ความนึกคิดคือการกระทำ เรานึกคิดสั่งการเช่นไร พลังจิตก็ทำงานตามนั้น
ที่คนเราฟุ้งซ่าน ซึมเศร้า เหงาหงอย จินตนาการทางลบ เพราะเราไม่ได้ฝึกจิต ใครนินทาใครเราจะเข้าไปผสมโรงนินทาด้วย แต่ถ้าได้ฝึกจิตแล้ว จะมีความรู้สึกว่าคนเราจะดีอย่างเดียวได้อย่างไร ย่อมต้องมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพียงแต่ว่าคนเราจะมีด้านไหนมากกว่ากันเท่านั้นเอง ผมเคยไปเรียนฝึกจิตที่อินเดีย มีความสุขมากแต่งชุดขาวห่มขาวสะพายย่ามเดิน-นั่ง-นอน ฝึกจิตทุกขณะ พี่สาวผมบอกน้องชายว่า
“ เอามันมา... เดี๋ยวมันกู่ไม่กลับ” กลัวผมบรรลุบวชเป็นชีพราหมณ์ ฮ่าๆๆ
เราคิดดีทุกครั้ง เรามีความดีทุกครั้ง เราคิดไม่ดีทุกครั้ง เราก็ทุกข์ทุกครั้ง เรามีเมตตาทุกครั้ง เราก็อิ่มใจทุกครั้ง เราโกรธใครทุกครั้ง เราก็ร้อนใจทุกครั้ง จริงไหมครับ พระพรหมคุณาภรณ์ ( ป.อ.ปยุตโต ) ท่านบอกว่าสภาพจิตนี้จะเปรียบเทียบได้เหมือนสารถีที่เจนจบการขับรถ สารถีผู้ชำนาญในการขับรถนั้นจะขับม้าให้นำรถเข้าถนนและวิ่งด้วยความเร็วพอดี ตอนแรกต้องใช้ความพยายาม ใช้แส้ดึงบังเหียนอยู่พักหนึ่ง แต่พอรถม้านั้นวิ่งเข้าที่เข้าทางดี ความเร็วพอดี อยู่ตัวแล้ว สารถีผู้เจนจบผู้ชำนาญแล้วนั้นจะนั่งสงบสบายเลย แต่ตลอดเวลานั้นเขาไม่มีความประหวั่น ไม่มีความหวาด จิตเรียบสนิท ไม่เหมือนคนที่ยังไม่ชำนาญ
ท่านผู้อ่านครับคนที่จิตนิ่งจะมีความสุขอยู่ตลอดเวลา เป็นสุขเต็มอิ่มอยู่ข้างใน ไม่ต้องหาจากข้างนอกและเป็นผู้มีชีวิต...ที่พร้อมจะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่....เพราะไม่ต้องห่วงกังวลถึงความสุขของตน และไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป จะมองโลกด้วยปัญญาที่รู้ความจริงและด้วยใจที่กว้างขวางและ..รู้สึก..เกื้อกูล
----------------------------------------------------------------------------------------------